กลิ่นหอมระเหย เมื่อเราสูดดมเข้าไปแล้ว สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดความรู้สึก (Perception) ได้ต่างๆ นานา ตามแต่ชนิด ของกลิ่นหอมระเหยนั้น นักวิจัยพบว่า กลิ่นหอมสามารถทำให้ผู้สูดดมระลึกถึง เหตุการณ์ในอดีต หรือเหตุการณ์ในวัยเด็กได้ เป็นที่น่าแปลกใจว่า ถึงแม้คนทั่วไป ต่างยอมรับว่า กลิ่นหอมระเหย มีผลต่อความรู้สึก อารมณ์ และความทรงจำ แต่กลับพบว่า มีนักวิจัยศึกษาเรื่องนี้น้อยมาก ในขณะที่ภาคธุรกิจต่างนำน้ำมันหอมระเหย (Essential Oils) ไปใช้ในการนวดในสปา ที่เรียกกันว่า สุคนธบำบัด (aromatherapy) โดยเชื่อว่า การสูดดมน้ำมันหอมระเหยเข้าไป จะช่วยให้เกิดความรู้สึกต่างๆ ได้ ขอยกตัวอย่าง น้ำมันหอมระเหยที่ สปา ต่างๆ นิยมใช้กัน ได้แก่ (right picture from www.worth1000.com)
- กลิ่นตะไคร้ (Lemongrass) ทำให้รู้สึกสดชื่น หายอ่่อนเพลีย
- กลิ่นมะนาว (Lemon) ทำให้รู้สึกสดชื่น กระตุ้นการตื่นตัว
- กลื่นลาเวนเดอร์ (Lavender) ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด
- กลิ่นมะลิ (Jasmine) ช่วยให้รู้สึกอ่อนหวาน ละมุนละไม
- กลิ่นส้ม (Orange) ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และเพิ่มความสดชื่น
- กลิ่นกุหลาบ (Rose) เป็นกลิ่นเบาๆ สบายๆ ทำให้รู้สึกหวาน และอารมณ์รัก
- กลิ่นโรสแมรี่ (Rosemary) กลิ่นหอมสดชื่น เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า
- กลิ่นเปปเปอร์มิ้นท์ (Peppermint) กลิ่นหอมเย็น ทำให้เกิดความสดชื่น และกระปรี้กระเปร่า
การที่กลิ่นหอมระเหย มีผลต่อความรู้สึก ทำให้มนุษย์นำเอากลิ่นหอมไปประยุกต์ใช้ กับงานพิธีทางด้านจิตวิญญาณ เมื่อราว 5000 ปีที่แล้ว ชาวอียิปต์ได้นำเนื้อไม้บางชนิดที่มีกลิ่นหอม มาบดเป็นผงแล้วนำไปผสมกับยางไม้ และเครื่องเทศ ได้สิ่งที่เรียกว่า kyphi ซึ่งพวกเขาจะเผามันเพื่อให้เกิดกลิ่นหอมในพิธีบวงสรวงเทพเจ้าต่างๆ ในสมัยกรีกมีการนำน้ำมันหอมระเหย มาใช้ในการแพทย์และเภสัชสำอาง เมื่อถึงยุคของโรมัน ก็มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านกลิ่นหอมระเหย มีการนำเครื่องหอมมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ รวมไปถึงการนวดน้ำมันหลังการอาบน้ำ กันอย่างกว้างขวาง ว่ากันว่า จักรพรรดิเนโรแห่งอาณาจักรโรมันผู้โด่งดัง นั้นคลั่งไคล้ กลิ่นหอมระเหยเอามากๆ ทำให้ในพระราชวังของพระองค์ ต้องมีการออกแบบให้มีการส่งกลิ่นหอม และโปรยดอกไม้ออกมายามเสด็จพระราชดำเนิน และเมื่ออาณาจักรโรมันถึงกาลล่มสลาย เทคโนโลยีในการใช้น้ำมันหอมระเหยของพวกเขา ก็มลายหายไปด้วย สำหรับคนไทยเราแล้ว พวกเราคุ้นเคยกับการจุดธูป เพื่อบูชาพระ เมื่อใดก็ตามที่เราได้กลิ่นธูป ก็จะเกิดความรู้สึกสงบ-ศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นมาทันที ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นจากสารหอมระเหยในธูปเอง หรือ เราสร้างมันขึ้นมาในจินตนาการ ? ความลับในเรื่องการรับรู้ทางด้านกลิ่น เป็นศาสตร์ทางด้าน neuro-cognitive science ที่กำลังมาแรง เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจซะทีว่า สุคนธสัมผัสทำงานอย่างไร และส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์เราได้เช่นไร
กลิ่นหอมระเหย เหนี่ยวนำความรู้สึกด้านวิญญาณได้อย่างไร วิทยาศาสตร์กำลังหาคำตอบ
ศาสตร์ของ aromatherapy สมัยใหม่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการค้นพบโดยบังเอิญของนักเคมีชาวฝรั่งเศส ว่าน้ำมันลาเวนเดอร์สามารถใช้รักษาแผลไฟลวกได้ ต่อมามีผู้นำไปใช้ร่วมกับการนวด ทำให้เกิดการแพร่หลาย ในประเทศไทยเอง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นหอมระเหยมีมูลค่าสูงมาก โดยข้อมูลจาก ททท. ระบุว่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา รายได้ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพิ่มขึ้นปีละ 40% นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงมาก โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ได้ให้ข้อมูลว่า ในปี พ.ศ. 2545 ประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจสุขภาพ และความงาม ถึง 25,000 ล้านบาท ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพระบุว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2545 มีผู้ใช้บริการสปาในประเทศไทย เป็นจำนวนถึง 3.3 ล้านคน (เป็นคนไทย 0.7 ล้านคน และชาวต่างชาติ 2.6 ล้านคน) ประเทศไทยถึงกับประกาศว่าจะให้ไทยเป็น Spa Capital of Asia
ด้วยเอกลักษณ์ด้านการนวด ผสมผสานกับกลิ่นของพันธ์พืชหอมไทย ทำให้ประเทศไทย
กำลังจะกลายเป็น เมืองหลวงแห่งสปาในไม่ช้านี้
ปกติในการใช้นวดสปานั้น จะไม่ใช้น้ำมันหอมระเหยนวดโดยตรง แต่จะใช้น้ำมันกระสายยา (Carrier Oils) เพื่อให้เจือจาง โดยผสมน้ำมันหอมระเหยเข้าไปในอัตราส่วนต่างๆ กันไป น้ำมันกระสายยา หรือ น้ำมันตัวพา ที่นิยมใช้กันได้แก่
- Sweet Almond Kernel Oil - น้ำมันอัลมอนด์ มีสาร olein, linoleic acid, glucosides, vitamin D
- Apricot Kernel Oil - น้ำมันแอปปริคอท มี polyunsaturated fatty acid
- Macadamia Nut Oil - น้ำมันแมคคาดาเมีย มี palmitoleic acid และ vitamin A
- Camellia Seed Oil - น้ำมันเมล็ดชา มี oleic acid
- Grape Seed Oil - น้ำมันเมล็ดองุ่น
- Hazelnut Oil - น้ำมันเฮเซลนัท มีวิตามิน โปรตีน แร่ธาตุ และ linoleic acid ใช้นวดหน้าได้
การนำน้ำมันหอมระเหย มาผสมผสานกับการนวดไทย นับว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของสปาไทย เมื่อก่อนสปา จะกินความหมายเพียง การแช่น้ำแร่ น้ำพุร้อน แต่ปัจจุบันมีประเภทของสปาแบบอื่นๆ เกิดขึ้นอีกหลายแบบ (จากหนังสือของ วันเฉลิม จันทรากุล) ได้แก่
- Spring Spa (น้ำพุร้อนสปา) เป็นรูปแบบดั้งเดิม อาศัยการแช่น้ำแร่เพื่อช่วยลดการเจ็บป่วยบางชนิด ประเทศไทยเราไม่มีสปาแบบนี้ ถึงแม้จะมีสถานที่ให้บริการแช่น้ำแร่ แต่ก็ไม่ได้ทำในรูปแบบของสปา
- Club Spa เป็นสปาขนาดเล็กที่จัดไว้ในบริเวณของสถานออกกำลังกาย อย่างเช่น ที่โรงแรมโซฟิเทลราชาออร์คิด จังหวัดขอนแก่น สปาจะอยู่ใน Fitness Club แต่ปัจจุบันได้ขยายออกมาทำให้ใหญ่ขึ้น จำนวนพนักงานบริการมากขึ้น
- Day Spa เป็นสปาที่เน้นบริการด้านความสวยงามประเภทนวดหน้า เพิ่มสัดส่วน บริการรักษาผิวพรรณ โดยไม่ได้เน้นทางด้านการบำบัดมากนัก ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ
- Medical Spa เป็นสปาในลักษณะของคลีนิคทางการแพทย์ มีโปรแกรมบำบัดรักษาโดยใช้หลักการแพทย์สมัยใหม่ ผสมผสานกับแพทย์แผนตะวันออก เช่น การฝังเข็ม การทำ detox การใช้หลักชีวจิต เป็นต้น
- Hotel & Resort Spa เป็นสปาในรูปแบบของโรงแรมและ รีสอร์ท เน้นความเป็นสถานที่พักผ่อน มีบรรยากาศที่ร่มรื่น สวยงาม เหมือนเป็นอาหารตา แพ็กเกจสปาของสถานบริการแบบนี้จะมีราคาค่อนข้างสูง ชาวต่างประเทศนิยมใช้บริการ โดยการซื้อกับทัวร์จากต่างประเทศ ที่ดังๆ ก็มี ภูใจใส จังหวัดเชียงราย หรือ อลีนตา ที่ปราณบุรี เป็นต้น
- Destination Spa เป็นสถานบริการสปาแบบครบวงจร ให้บริการหลายรูปแบบ โดยอาจเป็นคอร์ส ที่ใช้เวลาเต็มวันถึงหลายๆ วัน มีบริการหลายแบบ เช่น วารีบำบัด โภชนาการแบบควบคุม การปฏิบัติโยคะ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ชีวาศรม ที่ปราณบุรี
- Home Spa เป็นรูปแบบของสปาแบบใหม่ สำหรับคนที่ชอบการทำสปาที่บ้าน สามารถทำได้เอง หรือ อาจสั่งแบบ delivery มาที่บ้านก็ได้
การนำศาสตร์สุคนธบำบัด มาผสมผสานกับการนวดแผนไทย ทำให้สปาไทยโด่งดังไปทั่วโลก (Picture from www.chivasom.com)
ประเทศไทยมีความร่ำรวยทางด้านพรรณพืชหอม ซึ่งอาจนำมาทำน้ำมันหอมระเหยได้ หลากหลายมาก แต่น่าแปลกใจที่ประเทศไทย กลับนำเข้าเครื่องหอมเข้าประเทศ อย่างเช่นในปี พ.ศ. 2546 คิดเป็นมูลค่าถึง 3,500 ล้านบาท ดร. ประเทืองศรี สินชัยศรี ได้จัดกลุ่มของเครื่องหอมไทยเอาไว้ดังนี้
- พืชที่ดอกมีกลิ่นหอม
ตัวอย่าง: มะลิลา กระดังงา กฤษณา แก้ว กันเกรา การะเกด ชงโค ขจร คัดเค้า จันทน์กะพ้อ จำปูน จำปา จำปี ชัยพฤกษ์ ชะเอมไทย ซ่อนกลิ่น ตันหยง นมแมว นิโลบล บุหงา บัวเผื่อน บานเย็น ประดู่ พะยอม พิกุล พุด พุดซ้อน โมก ยี่โถ ราตรี ลำดวน เล็บมือนาง โสก สนสร้อย สายน้ำผึ้ง - พืชที่ใบมีกลิ่นหอม
ตัวอย่าง: โหระพา ตะไคร้ เตยหอม พิมเสน สะระแหน่ เนียม ผักชี พลู มะกรูด แมงลัก ยูคาลิป กระเพราขาว - พืชที่เปลือกมีกลิ่นหอม
ตัวอย่าง: ไม้หอม อบเชย การบูร กระแจะ กระเทียมต้น - พืชที่ผลหรือเมล็ดมีกลิ่นหอม
ตัวอย่าง: กระวาน กาแฟ เทียนขาวเปลือก จันทน์เทศ - พืชที่ราก หรือส่วนคล้ายราก มีกลิ่นหอม
ตัวอย่าง: กระชาย ขิง ข่า ขมิ้น ไพล แฝกหอม - พืชที่ยางมีกลิ่นหอม
ตัวอย่าง: กำยาน - พืชที่ต้นมีกลิ่นหอม
ตัวอย่าง: ตะไคร้ ตะไคร้หอม ไม้หอม จันทนา กำลังเสือโคร่ง จันทน์
เมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ แล้ว จีโนมเกี่ยวกับ การรับกลิ่นของมนุษย์อาจด้อยกว่า สัตว์จำพวกสุนัข ทั้งจำนวน gene ที่เข้ารหัสโปรตีนรับกลิ่น (Odor Receptor) ที่มีจำนวนน้อยกว่า รวมทั้งจำนวน odor receptor เองก็มีน้อยกว่ามาก ทำให้สุนัขมีความสามารถในการรับกลิ่นที่ไวกว่าเรามาก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ความรับรู้กลิ่น (Perception) หรือ สุคนธสัมผัส (aroma sense) ของเราจะด้อยกว่า เพราะกลิ่นที่เราได้รับ สามารถสร้างหรือก่อให้เกิดภาวะทางวิญญาณ (mind system) ได้อย่างซับซ้อน ซึ่งอาจจะมากกว่าสัตว์อื่นๆ ด้วยซ้ำ ในฐานะที่มนุษย์มีระบบสมองที่ซับซ้อนกว่ามาก การได้กลิ่นของเรา สามารถชักนำอารมณ์ ความจำ ความรู้สึกต่างๆ ได้ ในขณะที่สัตว์อื่นๆ อาจใช้เพียงเพื่อหาอาหาร หาคู่ และหลีกหนีอันตราย แต่ภาวะทางวิญญาณของมันนั้น ยังเป็นเรื่องที่เราไม่มีข้อมูลเลย
น้ำหอม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายโมเลกุลกลิ่น น้ำหอมแต่ละัขวดเกิดจากการสร้างสรรค์
ของนักผสมน้ำหอมที่เรียกว่า perfumer (Picture from www.perfumer-cn.com)
แม้จีโนมเรื่องการรับกลิ่นของเรา จะด้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด แต่ระบบการรับรู้กลิ่นของเรา ก็ยังมีความซับซ้อนมาก มนุษย์ที่ถูกฝึกมาโดยเฉพาะเช่น นักดมน้ำหอม อาจมีความสามารถจดจำกลิ่นได้ถึง 10,000 ชนิด แต่สำหรับคนทั่วไปนั้น อาจจะจดจำกลิ่นได้เพียงจำนวนในหลักร้อยหรือพันเท่านั้น โดยสามารถแยกแยะกลิ่นไปต่างๆ นานา ตามประสบการณ์ของตน เช่น กลิ่นไหม้ กลิ่นเปรี้ยว กลิ่นวานิลลา กลิ่นโลหะ กลิ่นหืน กลิ่นกุหลาบ กลิ่นกาแฟ และอื่นๆ โดยจมูกมนุษย์นั้น มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจับกลิ่นที่มีน้ำหนักโมเลกุลที่หนักกว่า 300 ดาลตัน (หนักเท่าไฮโดรเจน 300 อะตอม) ทำให้ไม่สามารถดมกลิ่นที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง รวมทั้งก๊าซพิษหลายๆ ชนิด เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นต้น อีกทั้งการระบุกลิ่นก็ไม่เที่ยงตรง แต่ละคนจะมีความรู้สึกไม่เท่ากัน ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่สามารถระบุกลิ่นในเชิงปริมาณได้ รู้เพียงว่ากลิ่นแรงหรืออ่อนๆ เท่านั้น
เมื่อคนเราสูดดมอากาศเข้าไป อากาศก็จะนำพาไอของโมเลกุล ซึ่งอาจมีกลิ่นเข้าไปในโพรงจมูกของเรา ซึ่งกระแสลมแปรปรวน (Turbulence) ในโพรงจมูกจะช่วยทำให้ไอโมเลกุลนั้น เกิดการสัมผัสกับต่อมรับกลิ่น ซึ่งอยู่บนเซลล์ประสาทรับกลิ่น โดยปลายข้างหนึ่งของเซลล์นี้จะไปรวมกันที่ต่อมรวมประสาท (Glomeruli) ซึ่งมันจะทำหน้าที่ขยายสัญญาณ (Amplifier) แล้วนำสัญญาณประสาทส่งไปสู่สมองส่วนที่เรียกว่า Olfactory Cortex การรับรู้กลิ่นเกิดจากการทำงานในระดับนาโน กล่าวคือ โมเลกุลของกลิ่นจะเกิดอันตรกริยา หรือจับตัวเข้ากับโมเลกุลรับกลิ่น (receptor) ซึ่งมีอยู่หลากหลายชนิด สมมติว่าเราดมกลิ่นทุเรียนเข้าไป ไอระเหยของทุเรียนนั้นมีโมเลกุลอินทรีย์นับสิบชนิด โมเลกุลอินทรีย์จากทุเรียนสามารถเข้าจับกับโมเลกุลรับกลิ่นในจมูก ก็จะเกิดรูปแบบขึ้นมา สมองก็จะจดจำว่า ถ้ากลิ่นทุเรียนมาก็รู้ว่าเป็นทุเรียน ทีนี้ถ้าทุเรียนต่างชนิดกัน เช่น หมอนทอง กับ ชะนี ก็อาจมีชนิดของโมเลกุลอินทรีย์ต่างกัน ทำให้สมองจำรูปแบบได้ว่า เป็นทุเรียนคนละประเภท นี่คือคำอธิบายว่าทำไมสุนัขถึงจดจำเจ้าของได้ เพราะรูปแบบที่เกิดขึ้นระหว่างโมเลกุลกลิ่น-โมเลกุลรับกลิ่น มีความจำเพาะเจาะจงและซับซ้อน อีกทั้งยังมีความหลากหลายทำให้ไม่ซ้ำกัน
กลิ่นสร้างสรรค์จินตนาการได้ แต่บางครั้งการเห็นภาพ ก็ทำให้เกิดกลิ่นได้ ลองมองภาพนี้ จากซ้ายไปขวาช้าๆ แล้วคุณรู้สึกอย่างไรที่จมูก น่ากินมั้ย? (Picture from www.mykonosreport.gr)
ประสาทรับรู้กลิ่นนั้น สามารถแยกแยะกลิ่นในเชิงคุณภาพได้ นักดมน้ำหอมสามารถแยกแยะกลิ่นได้นับ 10,000 ชนิด แต่ในเชิงปริมาณนั้น สัมผัสด้านกลิ่นของเรา แย่กว่าทางด้านการมองเห็นมาก กล่าวคือ เราแยกระดับความแรงของกลิ่นได้ไม่มาก อาจจะได้เพียง 5 ระดับเท่านั้น เช่น ไม่มีกลิ่น กลิ่นอ่อนมาก กลิ่นอ่อน กลิ่นปานกลาง กลิ่นแรง กลิ่นแรงมาก โดยมีความผิดพลาดได้ค่อนข้างมาก ในการจำแนกกลิ่นเชิงคุณภาพนั้น เรามักจะแยกแยะกลิ่นโดยระบุว่ามันคล้ายอะไร นักดมน้ำหอมก็มีวิธีการของตนเอง ในขณะที่นักชิมไวน์ก็มีวิธีการจำแนก กลิ่นของตนเอง
ตัวอย่างการระบุกลิ่นของนักดมน้ำหอม พวกเขาได้จำแนกกลิ่นหอมออกเป็น 9 กลุ่ม (ขวัญใจ เอมใจ, "ศาสตร์และศิลป์ของกลิ่นหอม", สารคดี, ธันวาคม 2540) ได้แก่
- Citrus กลิ่นสด ซ่าน ในกลุ่มส้ม มะนาว
- Aromatic กลิ่นหอมจากพืชพันธุ์ต่างๆ
- Floral กลิ่นหอมจากดอกไม้
- Green กลิ่นหอมสดชื่นจากใบไม้ ใบหญ้า
- Fruity กลิ่นหอมหวานของผลไม้
- Spicy กลิ่นหอมร้อนแรงของเครื่องเทศ สมุนไพร
- Woody กลิ่นหอมทึบ สุขุม มั่นคง
- Powdery กลิ่นหอมนวลเนียน
- Animal กลิ่นจากสัตว์
นอกจากนั้นพวกนักดมน้ำหอม ยังมีอารมณ์ศิลป์ โดยการจำแนกกลิ่นตามความรู้สึก ที่กลิ่นสร้างหรือเหนี่ยวนำให้เกิด ได้แก่
- กลิ่นหอมโรแมนติก
- กลิ่นแห่งความหยิ่งทะนง
- กลิ่นแห่งความลึกลับ
- กลิ่นของพลังอิสระ
- กลิ่นของความเสน่หา